ถึงเวลาแล้วที่บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด จะ “สมาร์ท” ซะที


17 January 2560
6216

ถึงเวลาแล้วที่บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ด จะ “สมาร์ท” ซะที 
โดยดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

 

เรามีบัตรประจำตัวประชาชนที่มีชิพอยู่บนบัตร หรือเรียกง่ายๆ ว่า สมาร์ทการ์ด มาเป็นเวลากว่าสิบปี เผลอๆ อาจจะเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่ประชาชนมีบัตรประจำตัวแบบไฮเทคก็ได้ แต่หลายคนคงมีคำถามว่าแล้วที่ผ่านมาไอ้ชิพที่ว่ามันเอาไปทำอะไรได้บ้าง ในเมื่อหน่วยงานภาครัฐต่างๆ (นอกเหนือจากกรมการปกครองในฐานะผู้ที่ออกบัตร) แทบไม่เคยเอาบัตรนี้ไปใช้งานเลย นอกจากใช้ถ่ายเอกสารทำสำเนา

คำถามต่อมาคือแล้วมันสามารถใช้งานอะไรได้จริงๆ อย่างไร ในเมื่อชิพบนบัตรก็มีการบรรจุข้อมูลต่างๆ ของผู้ถือบัตรไว้แล้ว ตั้งแต่ ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ไปจนถึงทะเบียนบ้าน ที่เป็นข้อมูลพื้นฐานของการทำธุรกรรมภาครัฐของแทบทุกบริการ หรือแม้กระทั่งลายนิ้วมือก็ได้ถูกบันทึกไว้ในชิพนี้ และพร้อมจะนำมาใช้ในการยืนยันตัวเราเองในกรณีการทำธุรกรรมที่ต้องการความมั่นใจสูง

คำตอบง่ายๆ คือ ใครที่อยากอ่านข้อมูลบนบัตรจะต้องมีเครื่องอ่านบัตรก่อน ถ้าต้องการเฉพาะข้อมูลที่ปรากฎบนหน้าบัตรก็สามารถทำได้เลย โดยการใช้โปรแกรมอ่านบัตรของกรมการปกครอง แต่ถ้าต้องการมากกว่านั้น เช่น ทะเบียนบ้าน ต้องขออนุญาตจากกรมการปกครองก่อน โดยปกติแล้วหน่วยงานภาครัฐสามารถขอได้เลยเพราะมีระเบียบอยู่แล้ว นอกจากนี้กรมการปกครองยังอนุญาตให้สามารถดึงข้อมูลอื่นๆ ของเจ้าของบัตรในลักษณะออนไลน์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ได้ด้วย เป็นการอำนวยความสะดวกในการยืนยันตัวของผู้มาใช้บริการได้ครบถ้วนโดยไม่ต้องขอสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านอีกเลย ตัวอย่างที่หลายคนได้สัมผัสมาแล้วคือ บริการการขอพาสปอร์ตที่ใช้แค่บัตรประจำตัวประชาชนเพียงบัตรเดียว

คำถามต่อไปคือแล้วจะทำอย่างไร จะมีบริการภาครัฐอื่นๆ ที่เป็นแบบนี้ให้มากขึ้น โดยความเป็นจริงแล้ว ได้มีมติคณะรัฐมนตรีออกมาเมื่อหลายปีแล้ว ที่มีนโยบายให้หน่วยงานไม่ต้องร้องขอสำเนาทั้งสองจากประชาชน แต่ทว่าในความเป็นจริง หน่วยงานแทบไม่ได้ปฎิบัติตาม อาจจะเป็นเพราะขาดอุปกรณ์หรือไม่พร้อมในการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเห็นได้จากข้อความที่ปรากฏในคู่มือประชาชนในเว็บไซต์ info.go.th ว่าเกือบทุกบริการยังต้องร้องขอสำเนาอยู่

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ว่า ตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลระยะ 5 ปี ได้มีมาตรการในการลดการใช้สำเนาต่างๆ จากภาครัฐ โดยเริ่มจากปี 2560 นี้ ที่กระทรวงมหาดไทยจะมีการจัดหาเครื่องอ่านบัตรสมาร์ทการ์ดจำนวนกว่าสองแสนเครื่อง แจกจ่ายให้หน่วยงานภาครัฐกว่า 80 หน่วยงานเพื่อให้บริการประชาชน ซึ่งหน่วยงานภาครัฐดังกล่าวถูกสั่งให้งดขอสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน

ในมาตรการนี้ ยังมองไปถึงการที่แบบฟอร์มต่างๆ จะถูกปรับปรุงให้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น นั่นหมายความว่าหลายหน่วยงานที่มีความพร้อม จะสามารถอ่านข้อมูลออนไลน์จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ และบันทึกลงฐานข้อมูลของหน่วยงานโดยตรง ทำให้ประชาชนไม่ต้องกรอกข้อมูลลงในแบบฟอร์มที่เป็นกระดาษอีกแล้ว เป็นการลดเวลาการทำธุรกรรมได้อย่างมาก 

เพื่อให้มั่นใจว่าการปรับไปสู่ดิจิทัลมากขึ้นจะมีความมั่นคงปลอดภัย จึงได้มีการออกแบบมาตรการต่างๆ ตั้งแต่ระบบเครือข่ายที่เชื่อมฐานข้อมูลต่างๆ ของภาครัฐก็เป็นระบบปิด การเข้าใช้ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์โดยต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตเท่านั้น และเจ้าหน้าที่ต้องใช้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดของตนเองเสียบที่เครื่องอ่านบัตรตลอดเวลาในการใช้งาน เพื่อให้ตรวจสอบได้ในภายหลัง และอื่นๆ

ทั้งหมดนี้คืออีกความพยายามของรัฐบาลที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ประชาชน และลดความยุ่งยาก ในการก้าวไปสู่ ประเทศไทย 4.0 ที่ตอบโจทย์ประชาชนโดยแท้จริง
 


 

———————————–
ตีพิมพ์ลงใน หนังสือพิมพ์ Posttoday ฉบับวันที่ 19 มกราคม 2560
คอลัมน์ e-Government หมวดเศรษฐกิจดิจิทัล หน้า C7