รัฐบาลดิจิทัล . . . .ก้าวสำคัญของประเทศไทย 4.0


5 January 2560
15055

รัฐบาลดิจิทัล . . . .
ก้าวสำคัญของประเทศไทย 4.0

โดยดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

หลังจากรัฐบาลประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ไปไม่กี่วัน ก็มีคำถามมากมายว่าจะเริ่มอย่างไร จะเริ่มแบบไหน คนในภาครัฐเองก็เช่นเดียวกันต่างมีคำถามว่าหน่วยงานตัวเองจะปรับตัวอย่างไรดี  จริงๆ แล้วรัฐบาลมีแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือเรียกสั้นๆ ว่า ดิจิทัลไทยแลนด์ มาตั้งแต่เดือนเม.ย.ปีที่แล้ว ที่บอกว่าทำอย่างไรคนไทยจะเอาเทคโนโลยีดิจิทัลที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมาประยุกต์ใช้ทุกเรื่องตั้งแต่ประกอบอาชีพ การเรียนรู้ ค้าขาย ทำมาหากิน เพื่อให้แต่ละเรื่องมันง่ายขึ้น สะดวก ลดเวลา ลดข้อจำกัด และเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อให้ในที่สุด "เราทำน้อยแต่ได้มาก"

ในแผนดิจิทัลไทยแลนด์นี้ แบ่งมาตรการเป็น 6 เรื่องใหญ่ตั้งแต่วางโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น เพราะถ้าไม่มีถนนดิจิทัลข้อมูลข่าวสารก็ไม่มีที่วิ่ง ภายในปี 2560 นี้คาดว่าถนนดิจิทัลจะไปครบทุกหมู่บ้าน จากนั้นมาตรการที่สองที่ว่าแล้วจะเอาถนนดิจิทัลไปทำอะไรในด้านเศรษฐกิจและค้าขาย เพื่อให้ประชาชนสามารถเอาเทคโนโลยีนี้ไปใช้เป็นเครื่องมือ ตั้งแต่ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ไปจนถึงเพิ่มช่องทางการขาย เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายและเร็วขึ้น

นอกจากนี้เพื่อให้สังคมเตรียมความพร้อม ได้มีมาตรการด้านสังคมดิจิทัลโดยภาครัฐเองถูกกำหนดให้ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลในมาตรการที่ 4 ส่วนการเตรียมความพร้อมของคนทุกระดับถูกกำหนดไว้ในมาตรการที่ 5 เพราะการยกระดับทักษะคนในโลกยุคดิจิทัลต้องคิดใหม่ทำใหม่ ท้ายสุดเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้งานออนไลน์ดิจิทัล มาตรการที่ 6 เลยต้องมีไว้ด้วย

26 ขีดความสามารถเชิงดิจิทัล ตาม ร่าง แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564)

 

ขอย้อนไปในอดีตว่า จริงๆ แล้วเราคุ้นเคยกับคำว่า "รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์" หรือ "อี-กอฟเวิร์นเมนต์" มาหลายปี แต่พอมาเปลี่ยนเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยเนื้อแท้แล้วเจตนารมณ์ไม่ต่างกันเลย เพืยงแต่นิยามของรัฐบาลดิจิทัลได้ขยายขอบเขตมากยิ่งขึ้น ก้าวไปถึงทำอย่างไรจะให้ประชาชนที่มีคอมพิวเตอร์น้อยๆ ในมือ มีส่วนร่วมในการปฏิสัมพันธ์กับภาครัฐด้วยตนเอง โดยปลดล็อกข้อจำกัดที่ว่าข้อมูลข่าวสารภาครัฐในอดีตยากต่อการเข้าใช้ ให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และที่ดีกว่านั้น นำไปต่อยอดใช้งานได้ทันที รัฐบาลดิจิทัลไม่มองประชาชนเป็นเพียงผู้ใช้งาน แต่เป็นส่วนหนึ่งของระบบ ก้าวไปอีกระดับ นั่นคือระดับที่เป็นการทำงานร่วมกัน

ดังนั้นการจะทำให้รัฐบาลดิจิทัลเป็นจริง จะตกมาที่ว่าหน่วยงานภาครัฐต้องปรับตัวอย่างไร ในเมื่อประชาชนใช้โปรแกรมไลน์ซื้อของขายของกันแล้ว ขณะที่ภาครัฐยังต้องขอสำเนาเอกสารอยู่ ทำไมภาครัฐไม่คุยกัน เชื่อมโยงออนไลน์กันเลยไม่ได้เหรอ เรามีบัตรประจำตัวประชาชนสมาร์ทการ์ดมาเป็นเวลา 10 กว่าปี แต่มีไม่กี่หน่วยงานที่ใช้ประโยชน์ เป็นไปได้หรือไม่ว่าภายใน 5 ปี การขอสำเนาเอกสารจากภาครัฐจะหายไปประชาชนถือไปแค่บัตรประชาชนก็สามารถทำธุรกรรมภาครัฐได้เลย

นี่คือหนึ่งในเป้าหมายของแผนรัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยในระยะ 5 ปี ติดตามตอนต่อไปว่า แล้วเราจะเดินไปอย่างไรให้ได้ตามนั้นได้อย่างแท้จริง

———————————–

ตีพิมพ์ลงใน หนังสือพิมพ์ Posttoday ฉบับวันที่ 5 มกราคม 2560
คอลัมน์ e-Government หมวดเศรษฐกิจดิจิทัล หน้า C7