Uptime Institute ให้การรับรองมาตรฐานส่วนงานด้านการออกแบบ (Design) Data Center ในระดับTier III แก่ EGA
ในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้นำระบบ IT เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการให้บริการและการพัฒนาธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการในการดำเนินงานที่มากขึ้นซึ่งระบบต่างๆ เหล่านั้นทำงานอยู่ภายใต้ศูนย์ข้อมูลหรือที่เราเรียกกันว่า Data Center
โดย Data Center นั้นหากเราทำความเข้าใจกันง่ายๆ มันก็คือห้องที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นที่อาศัยและพักพิงของเครื่องแม่ข่าย (Server) ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์เล็กๆ ทั่วไป (Web Hosting) จนถึง Super computer ที่ใช้กับระบบใหญ่ๆ เช่นระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (https://www.gprocurement.go.th) ซึ่ง Data Center ถูกออกแบบมาเพื่อตอบสนองให้ Server ที่ทำงานอยู่นั้นสามารถทำงานได้เสถียรที่สุด
Data Center นั้นจึงไม่มีวันหยุดราชการและไม่มีวันพักผ่อนต้องทำงานอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง 7 วัน จึงต้องสามารถควบคุมอุณหภูมิ รวมถึงระบบไฟฟ้า หรือ ระบบอื่นๆ ให้พร้อมทำงานได้ทันทีเมื่อมีสิ่งใดทำงานผิดพลาด เพราะมันเป็นศูนย์รวมของ Server ขนาดเล็กไปจนถึง Server ขนาดใหญ่ที่อาจจะมีความสำคัญถึงขั้นความเป็นความตายของหลายหน่วยงานเลยก็ว่าได้
ให้ลองคิดกันดูว่า: ถ้าเรานั่งรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งรถไฟฟ้าใต้ดินจะวิ่งได้ตรงตามเวลา ไม่วิ่งสลับรางทับกัน หรือวิ่งชนกันเองได้นั้นต้องมี ศูนย์สั่งการ (Command Center) รวมถึงข้อมูลโปรแกรมการจัดการเส้นทางการเดินรถไฟฟ้าใต้ดินที่ Run จาก Server ที่อยู่ใน Data Center หากห้อง Data Center มีปัญหาก็ทำให้ Server ต่างๆทำงานผิดปกติไป ซึ่งอาจจะทำให้พนักงานที่ขับรถไฟฟ้าใต้ดิน หรือ พนักงานที่อยู่ศูนย์ควบคุมการเดินรถไฟฟ้าใต้ดิน ไม่สามารถสั่งการให้รถไฟฟ้าใต้ดินเปลี่ยนเส้นทาง หรือ สั่งการผิดพลาดไป ทำให้เกิดเหตุกาารณ์ที่จะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตผู้โดยสารบนรถไฟฟ้าใต้ดินได้เลย จะเห็นได้ว่าการทำงานอย่างมีเสถียรภาพของ Data center นั้นมีความสำคัญมากขนาดไหน
สำหรับการสร้าง Data Center นั้นมีมาตรฐานในระดับสากลที่คนทั่วโลกยอมรับกันอยู่หลายที่ทั้งในฝั่งทวีปอเมริกา เช่น Uptime Institute,TIA942 และ ฝั่งทวีปยุโรป เช่น TUViT
ตารางเปรียบเทียบแนวทางของสถาบันรับรองมาตรฐาน (ข้อมูล ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2559)
โดยในปี 2559 สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGA) ได้ขอการรับรองจาก Uptime Institute เพื่อทำการวิเคราะห์ระบบต่างๆ ที่ประกอบใน Data Center จะไม่มี Single point of failure (ส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบซึ่งถ้าล้มเหลว จะทำให้ระบบทั้งหมดหยุดทำงานโดยสิ้นเชิง) โดยการเข้าตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญจาก Uptime Institute จะช่วยตรวจสอบจุดอ่อนและลดความเสี่ยงของระบบภายใน Data Center เพื่อยกระดับ G-Cloud ให้ได้มาตรฐานในระดับสากลที่ทั่วโลกยอมรับ
ซึ่งการขอรับรองมาตรฐานของ UpTime Institute นั้นสามารถทำได้ สามส่วนหลักคือ
- ส่วนงานด้านการออกแบบ (Design)
- ส่วนงานด้านการก่อสร้าง (Facility)
- ส่วนงานด้านการปฏิบัติการ (Operation)
แบ่งขั้นลำดับออกเป็น 4 ระดับ คือ Tier I, TierII, Tier III และ Tier IV
และในปี 2559 นี้สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานส่วนงานด้านการออกแบบ (Design) Data Center ในระดับTier III หรือ ที่เรียกว่า Tier Certification of Design Documents Level III ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันว่า มีองค์กรระดับสากลตรวจสอบระบบเพื่อหาจุด Single point of failure (เพื่อที่จะลดความเสี่ยงของระบบที่จะเกิด Downtime) และระบบต่างๆ ของ Data Center สามารถปฏิบัติงานได้เมื่อเกิดปัญหาในจุดใดๆ ของอุปกรณ์ (Concurrently Maintainable) ที่เป็นส่วนสำคัญในการยกระดับ เสถียรภาพ (Reliability) และ ความพร้อมใช้ (Availability) ให้กับ G-cloud ทำให้ทุกหน่วยงานภาครัฐที่ใช้งานระบบ G-Cloud สามารถมั่นใจในคุณภาพการให้บริการได้ในระดับสากล
**ในประเทศไทยมีผู้ผ่านมาตรฐานของ Uptime Institute เพียง 2 รายเท่านั้นคือ EGA และ PTT
ภาพรวมของประเทศที่ได้รับการตรวจจาก Uptime Institute ในภูมิภาค ASEAN
ข้อมูลอ้างอิง:
https://uptimeinstitute.com/
https://uptimeinstitute.com/TierCertification/design-document-certifications.php
https://uptimeinstitute.com/TierCertification/constructed-facility-certifications.php
https://uptimeinstitute.com/TierCertification/operational-sustainability-certifications.php
https://uptimeinstitute.com/TierCertification/certMaps.php