ผลการจัดอันดับประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถ 2016 หรือ World Talent Report 2016
ผลการจัดอันดับประเทศที่มีความเป็นเลิศในด้านบุคลากรผู้มีความสามารถ 2016 หรือ World Talent Report 2016 จัดทำโดย The IMD World Competitiveness Center ของสวิสเซอร์แลนด์ โดยการทำสำรวจขีดความสามารถของประเทศต่างๆ 61 ประเทศ ซึ่งพิจารณาปัจจัยต่างๆ 3 ด้าน คือ ปัจจัยด้านการลงทุนและพัฒนา (Investment and Development) ปัจจัยด้านความดึงดูด (Appeal) และปัจจัยด้านความพร้อม (Readiness)
โดยในปี 2016 นี้ภาพรวมอันดับของประเทศไทย ตกลง 3 อันดับ คือได้อันดับที่ 37 จาก 61 ประเทศ
โดยด้านที่อันดับลดลงมากที่สุดคือ ด้านการลงทุนและการพัฒนา (Investment and Development) อันดับลดลงไปถึง 23 อันดับ (อันดับ 19ในปี 2015) แต่ด้านความดึงดูด (Appeal)หรือความน่าสนใจที่คนต่างประเทศจะมาทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับ(24) (อันดับ 25ในปี 2015) และในด้านความพร้อม (Readiness)อันดับเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับ (49) เช่นกัน (อันดับ 50ในปี 2015)
สนใจอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ http://www.imd.org/uupload/IMD.WebSite/Wcc/NewTalentReport/Talent_2016_web.pdf
การประเมินทั้ง 3 ปัจจัยของ IMD นั้นสามารถที่จะอธิบายง่ายได้ดังนี้
– ในส่วนของ “ปัจจัยด้านการลงทุนพัฒนา” IMD สนใจการลงทุนในภาคการศึกษา ทั้งยอดรวมการลงทุน และค่าเฉลี่ยต่อจำนวนนักเรียน สัดส่วนครูต่อจำนวนนักเรียน การฝึกงาน การฝึกอบรมพนักงาน การใช้แรงงานสตรี และโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข
– “ปัจจัยด้านความดึงดูด” ก็จะสนใจค่าครองชีพ คุณภาพชีวิต แรงจูงใจ อัตราสมองไหล ความสามารถในการดึงดูดให้คนทำงาน การจ่ายค่าตอบแทน
– ในขณะที่ “ปัจจัยด้านความพร้อม” ก็จะพิจารณาอัตราการเติบโตของแรงงาน แรงงานทักษะ ความสามารถด้านการเงิน ประสบการณ์ทำงานกับต่างประเทศ ความสามารถของผู้บริหารระดับสูง ระบบการศึกษา การศึกษาระดับอุดมศึกษา การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และการจัดการ ภาษา และการประเมินสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษา
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าปัจจัยด้านความพร้อมจะแสดงให้เห็นผลลัพธ์ของการลงทุน และการบริหารจัดการ (อันส่งผลต่อการดึงดูดให้ผู้คนจะทำงานด้วย) ความสนุกและน่าสนใจเกิดขึ้นเมื่อเราพลิกไปดูผลการสำรวจและจัดอันดับ “Talent” ของประเทศไทยเทียบกับอีก 60 ประเทศ (รวม 61 ประเทศ)
สำหรับประเทศไทยในส่วนของภาครัฐ การพัฒนาศักยภาพบุคลากรเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยตาม (ร่าง) แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ระยะที่ 2 (อ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.dga.or.th/policy-standard/policy-regulation/dga-019/)
ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลได้ขยายผลไปสู่การปฏิบัติโดยจัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลภาครัฐ: TDGA(Thailand Digital Government Academy) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาเสริมสร้างขีดความรู้ ความสามารถด้านดิจิทัลของบุคลากรภาครัฐทุกระดับอย่างเป็นระบบ สอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศและเป็นไปตามมาตรฐานสากล
โดยสถาบันนี้จัดตั้งขึ้นในแนวประชารัฐภายใต้ความร่วมมือของสถาบันการศึกษาชั้นนำทั้งรัฐและเอกชน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสถาบันไอเอ็มซี (IMC Institute) รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ International Academy of CIO (IAC) และ ASEAN Chief Information Officer Association (ACIOA)