ศัพท์น่ารู้ : รัฐบาลในรูปแบบต่างๆ
Electronic Government (e-Government) | รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
การนําเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการและบูรณาการการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการประชาชน
แหล่งที่มา : พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสํานักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554
Digital Government (d-Government) | รัฐบาลดิจิทัล
การนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการยกระดับการทำงานภาครัฐให้มีความทันสมัย เพื่อสร้างบริการที่มีคุณค่าสู่ประชาชน ด้วยการทำงานอย่างเป็นระบบและพึ่งพาทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานอิสระ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน และปัจเจกบุคคลที่มีบทบาทในฐานะผู้ให้และผู้ใช้ข้อมูล รวมถึงร่วมสรรค์สร้างสาระที่จำเป็นและสำคัญต่อการให้บริการของภาครัฐ
แหล่งที่มา : Recommendation of the Council on Digital Government Strategies, OECD 2014
Mobile Government (m-Government) | การให้บริการภาครัฐผ่านอุปกรณ์พกพา
การบริการของภาครัฐที่ใช้เทคโนโลยีอุปกรณ์พกพาเป็นช่องทางให้บริการแก่ประชาชน
แหล่งที่มา : M-Government: Mobile Technologies for Responsive Governments and Connected Societies – © ITU, OECD 2011
Ubiquitous Government (u-Government) | การให้บริการภาครัฐที่เข้าถึงได้จากทุกสถานที่ ทุกเวลา ทุกอุปกรณ์ และทุกช่องทางการสื่อสาร
การให้บริการภาครัฐเพื่อสังคมในอนาคตที่สามารถเข้าถึงบริการด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศได้ทุกสถานที่ ทุกเวลา ทุกอุปกรณ์ และทุกช่องทางการสื่อสาร
แหล่งที่มา : M-Government: Mobile Technologies for Responsive Governments and Connected Societies – © ITU, OECD 2011
Smart Government (s-Gov) | รัฐบาลอัจฉริยะ
การบริหารรัฐบาลด้วยการประยุกต์ใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการทำงานอย่างสอดประสานระหว่างหน่วยงานภาครัฐต่างๆ เพื่อสร้างคุณค่าสาธารณะอย่างยั่งยืน
แหล่งที่มา : Smart Government Key Initiative Overview, 2013
Innovation and Inclusion in Government (i-Gov) | การให้บริการภาครัฐด้วยการใช้นวัตกรรมเพื่อความทั่วถึงและครอบคลุม
การบริหารจัดการและการให้บริการของภาครัฐที่ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อให้บริการทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
แหล่งที่มา: แนวคิดในคำกล่าวเรื่อง Innovation and Inclusion: The Americans with Disabilities Act at 20
Open Government | การบริหารรัฐบาลแบบเปิดเน้นธรรมภิบาลและความโปร่งใส
นิยามที่ 1: แนวคิดในการบริหารราชการตามหลักธรรมมาภิบาลที่ภาครัฐจะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน รับรู้ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ เพื่อสร้างความโปร่งใส และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งส่งผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาล และความเจริญก้าวหน้าของประเทศ
แหล่งที่มา: เว็บไซต์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรปริญญาโทด้านนโยบายและการบริหารสารสนเทศ (http://cio.citu.tu.ac.th/cio2013/?p=1408)
นิยามที่ 2: ความโปร่งใสในการดำเนินงานของภาครัฐ ความสามารถในการเข้าถึงการบริการของภาครัฐ การให้ข้อมูล การตอบสนองความต้องการของประชาชน การเพิ่มศักยภาพด้านคุณภาพ การลดโอกาสคอร์รัปชัน และการสร้างความไว้วางใจต่อภาครัฐ
แหล่งที่มา: รายงานการศึกษาแนวทางการพัฒนารัฐบาลโปร่งใส (Open Government) ของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
เรียบเรียงโดย : ส่วนนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์