ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ EGDI 2020 จัดอันดับไทยก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 3 ของ ASEAN และพุ่งขึ้น 16 อันดับ จากอันดับ 73 สู่อันดับ 57 จาก 193 ประเทศ


13 July 2563
4324

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศผลการสำรวจรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ประจำปี 2020 หรือ UN E-Government Survey 2020 อันประกอบไปด้วยการประเมินระดับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศต่างๆ ใน 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index: EGDI) ดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Participation Index: EPI) และดัชนีการให้บริการภาครัฐออนไลน์ในระดับท้องถิ่น (Local Online Service Index: LOSI)

  • ดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-Government Development Index: EGDI) ในปี 2020 พบว่า ประเทศไทยมีคะแนน รวมถึงอันดับสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับผลการสำรวจในรอบปี 2018 โดยในปีนี้ ประเทศไทยได้ขยับอันดับขึ้นมาจากอันดับที่ 73 เป็นอันดับที่ 57 จาก 193 ประเทศ ซึ่งเป็นการยกระดับขึ้นจากประเทศในกลุ่มที่มีการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลในระดับสูง มาอยู่ในกลุ่มที่มีการพัฒนาในระดับสูงมาก ร่วมกับอีก 56 ประเทศ และยังถือได้ว่าเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 11 ของโลก และมาเลเซีย อันดับที่ 47 แทนที่บรูไน ซึ่งได้ที่ 60 จากผลการสำรวจครั้งล่าสุด และเมื่อพิจารณาคะแนนในแต่ละด้าน พบว่า ด้านที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ได้แก่ การให้บริการออนไลน์ (Online Service Index: OSI) และ โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม (Telecommunication Infrastructure Index: TII) ส่วนทุนมนุษย์ (Human Capital Index: HII) มีคะแนนปรับลดเพียงเล็กน้อย แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นผลมาจากการพัฒนาด้านการให้บริการดิจิทัลภาครัฐที่ตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น และการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศที่รองรับเข้าถึงข้อมูลและบริการภาครัฐผ่านช่องทางออนไลน์ของประชาชน
  • ดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Participation Index: EPI) ซึ่งเป็นการประเมินแนวทางการใช้เครื่องมือดิจิทัลในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนในการกำหนดทิศทางการทำงานของภาครัฐ พบว่า ภาครัฐไทยมีการเปิดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนมากขึ้น ทั้งในการร้องเรียน กำหนดนโยบาย ร่างกฎหมาย และการติดตามการใช้จ่ายงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้าง ส่งผลให้ประเทศไทยมีอันดับสูงขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยขึ้นจากอันดับที่ 82 ในปี 2018 มาเป็น อันดับที่ 51 ในปี 2020 โดยประเทศไทยยังคงครองอันดับที่ 3 ของประเทศอาเซียนรองจากสิงคโปร์ ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก และมาเลเซีย อันดับที่ 29
  • ดัชนีการให้บริการภาครัฐออนไลน์ในระดับท้องถิ่น (Local Online Service Index: LOSI) เป็นการประเมินการให้บริการด้านข้อมูล การทำธุรกรรม และกลไกการมีส่วนร่วมจากคนในท้องที่ ของเมืองหลักในแต่ละประเทศทั่วโลก ซึ่งริเริ่มจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2018 โดยในปีนี้ องค์การสหประชาชาติขยายกลุ่มการสำรวจจาก 40 เป็น 100 เมือง ซึ่งกรุงเทพมหานคร มีอันดับตกลงเล็กน้อยจากอันดับที่ 34 มาอยู่ในอันดับที่ 39 ในปี 2020
  • ผลการจัดอันดับในครั้งนี้ นับเป็นการบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติด้านการบริการประชาชนและประสิทธิภาพภาครัฐในระยะที่หนึ่ง ซึ่งได้กำหนดให้ประเทศไทยต้องอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาด้านรัฐบาลดิจิทัลสูงสุด 60 อันดับแรก ภายในปี 2565 อีกทั้งยังเป็นเครื่องหมายแสดงความสำเร็จของการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทยในเวทีสากล ซึ่งระดับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดอย่างชัดเจนนี้ ต้องชื่นชมและขอบคุณความร่วมมือ และความพยายามของทุกหน่วยงานภาครัฐในการขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลตามนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติที่วางไว้ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนา รวบรวมข้อมูลจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประสานข้อมูลกับ UN อย่างใกล้ชิด

    อย่างไรก็ตาม ภาครัฐไทยยังคงตระหนักถึงภารกิจด้านประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐที่ยังคงต้องเร่งดำเนินการให้สำเร็จลุล่วง อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลดิจิทัลอย่างแท้จริง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและภาคธุรกิจ ภายใต้บริบทบการเปลี่ยนแปลงในยุค New Normal นี้ อย่างมีประสิทธิภาพ

    เอกสารแนบ

    1
    2