กระทรวงไอซีที เตรียมพร้อมนำประเทศไทยก้าวสู่การใช้งานระบบ IPv6
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยในการแถลงข่าว “ไอซีที ประกาศนำประเทศไทย สู่ IPv6” ว่า การใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการสืบค้นและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ การซื้อขายสินค้า-บริการ การศึกษาเรียนรู้ต่างๆ การจัดการทางการเงิน รวมถึงการติดต่อสื่อสารผ่านเครือข่ายสังคมอินเทอร์เน็ต หรือ Social Network ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งการใช้งานอินเทอร์เน็ตดังกล่าว นอกจากจะเชื่อมต่อผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ต่างๆ แล้ว ปัจจุบันยังสามารถใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ Portable รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ หรือที่เรียกว่า Internet of Things (IoT) จึงทำให้ความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตยิ่งเพิ่มมากขึ้น และการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อรับ-ส่งข้อมูลนั้น จำเป็นต้องมีการระบุตำแหน่งในการเชื่อมต่อว่ามาจากที่ใด ด้วยการระบุหมายเลขอินเทอร์เน็ต หรือ Internet Protocol ซึ่งเรียกกันย่อๆ ว่า IP โดยหมายเลขอินเทอร์เน็ตที่ใช้กันในปัจจุบันนี้เป็นระบบ Internet Protocol version 4 หรือ IPv4 ที่มีทั้งหมดประมาณ 4 พันล้านหมายเลข
“จากความสะดวกในการเข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ได้ส่งผลให้หมายเลข IP ในระบบ IPv4 มีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน และที่สำคัญ คือ หมายเลข IPv4 กำลังจะหมดลงในอนาคตอันใกล้นี้ จึงได้มีการเสนอระบบใหม่ที่เรียกว่า Internet Protocol version 6 หรือ IPv6 ซึ่งจะทำให้มีจำนวน IP Address มากเพียงพอต่อความต้องการ โดย IPv6 จะสามารถรองรับการเชื่อมต่อได้มากถึง 2 ยกกำลัง 128 หรือมากกว่า IPv4 ถึง 2 ยกกำลัง 96 เท่า ทำให้มีคำเปรียบเปรยว่า เม็ดทรายทุกเม็ดบนโลกสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้” นางจีราวรรณ กล่าว
ดังนั้น ประเทศต่างๆ ในโลกจึงได้มีการพิจารณาเตรียมการเพื่อรองรับการเปลี่ยนไปใช้ระบบ IPv6 ซึ่งต้องพิจารณาความพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งในส่วนของเครื่องมืออุปกรณ์ที่ต้องรองรับ IPv6 ด้านบุคลากรที่ต้องเรียนรู้การใช้ระบบใหม่ และเรื่องงบประมาณที่ต้องเตรียมการ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย ตามแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ของประเทศไทย พ.ศ.2552 – 2556 ในส่วนของยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้กำหนดให้เริ่มพิจารณาวางแผนการสร้างโครงข่ายการสื่อสารยุคใหม่ หรือ Next Generation Network : NGN รวมถึงองค์ประกอบสำหรับขยายขอบข่ายของบริการอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันไปสู่ บริการอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ หรือ IPv6 ให้เป็นผลสำเร็จ ตลอดจนได้มีการวางแผนการใช้งาน IPv6 ในโครงการ บรอดแบนด์แห่งชาติไว้ด้วย ซึ่งทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็ได้มีการเตรียมการเพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่ IPv6 มาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชน และองค์กรหลายๆ แห่งก็ได้มีการดำเนินการในเรื่องนี้แล้ว
“ในส่วนของภาครัฐ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้แต่งตั้งคณะทำงานส่งเสริมนโยบาย IPv6 ที่มีผู้แทนจากหลายภาคส่วนมาร่วมพิจารณาการดำเนินการใช้ IPv6ของประเทศไทย โดยได้มีการกำหนดแนวทางการดำเนินการเตรียมความพร้อมเครือข่าย IPv6 สำหรับภาครัฐ เป็นการนำร่อง และเพื่อเป็นการแสดงความชัดเจนของประเทศไทยในเรื่องนี้ กระทรวงฯ จึงขอประกาศอย่างเป็นทางการว่าประเทศไทยเริ่มการเปลี่ยนผ่านไปสู่ IPv6 ณ วันนี้ โดยเริ่มจากงานด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ของกระทรวงฯ ซึ่งมีสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบนอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงฯ คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ก็จะเริ่มดำเนินการในเรื่องนี้เช่นกัน” นางจีราวรรณ กล่าว
นอกจากนั้นในวันที่ 8 มิถุนายน 2554 ซึ่งเป็นวันที่ทั่วโลกได้มีการเตรียมการสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การกำหนดให้เป็นวันที่จะทดสอบการใช้ IPv6 พร้อมกันทั่วโลก หรือเรียกว่า World IPv6 Day โดยหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ของประเทศต่างๆ จะร่วมทำการทดสอบพร้อมๆ กันทั่วโลกซึ่งกระทรวงไอซีทีจะนำหน่วยงานในสังกัด คือ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ฯ เข้าร่วมการทดสอบด้วย
“ในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ นอกจากจะเข้าร่วมการทดสอบแล้ว กระทรวงฯ ยังได้ร่วมกับสมาคม IPv6 ประเทศไทย และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. จัดการประชุมสัมมนา เรื่อง “ก้าวสู่จุดเปลี่ยน IPv6 ประเทศไทย” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการให้ความรู้และกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวรวม ทั้งเตรียมความพร้อมในการปรับปรุงและพัฒนาเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายในประเทศ ไทยไปสู่การใช้งานเทคโนโลยี IPv6 และนำเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชนร่วมทดสอบ IPv6 อย่างเป็นทางการให้แก่ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง ของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนด้วย
การเปลี่ยนผ่านไปสู่ IPv6 ของประเทศไทยนั้น มีสิ่งที่ต้องดำเนินการอีกมากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากหลายๆ ประเทศต้องใช้ระยะเวลาหลายปีในการดำเนินการ ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องกำหนดนโยบายและแผนการดำเนินการให้ชัดเจน ซึ่งกระทรวงฯ หวังว่าทุกภาคส่วนรวมทั้งสมาคม IPv6 ประเทศไทยจะร่วมมือกันเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ให้บรรลุผลเป้าหมายที่วาง ไว้” นางจีราวรรณ กล่าว