รู้จัก สรอ. ผู้ทำรัฐบาลไฮเทคไทย กับ 3 ภารกิจเห็นผลในปี 2554
หลังสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(องค์การ มหาชน) หรือ สรอ. ได้รับการก่อตั้งเป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เมื่อวันที่ 22 ก.พ.54 และคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 มี.ค.54
วันนี้ “สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ.” ยังไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเนื่องจากรัฐบาลประกาศยุบสภาเสียก่อน ทว่าภารกิจที่ต้องเดินหน้าของ สรอ.ไม่ได้หยุดนิ่งเพื่อรอการเปิดตัว แต่เดินหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย
สำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ของ สรอ. จำนวน 170 คนย้ายมาจากสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ (สบทร.) หน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งก่อนหน้านี้รับผิดชอบการดูแลโครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์อยู่แล้ว
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สรอ. กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของ สรอ. ว่า ตั้งขึ้นเพื่อเป็นหน่วยงานกลางที่รับผิดชอบในการวิจัย พัฒนา และปฏิบัติการเกี่ยวกับระบบโครงสร้างพื้นฐาน ด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (อี-กัฟเวิร์นเม้นท์)ประเทศไทย รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานภาครัฐในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
โดย 3 ภารกิจหลักที่ สรอ. ตั้งเป้าผลักดันให้เห็นผล หลังได้รับก่อตั้งเป็นองค์การมหาชน คือ ขับเคลื่อนการใช้อีเมลกลางภาครัฐ ภารกิจท้าทายความสามารถอันดับต้น ๆ ของ สรอ. เพราะระบบอีเมลกลางภาครัฐเปิดให้บริการมาร่วม 3 ปี จากการให้บริการของ สบทร. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) แต่ที่ผ่านมากลับไม่ได้รับความสนใจจากพนักงานราชการเท่าที่ควร
ดร.ศักดิ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้การให้บริการอีเมลกลางภาครัฐมีผู้ให้บริการ 3 รายคือ ทีโอที กสท. และสบทร.จึงติดปัญหาในการบริหารจัดการเกี่ยวกับโดเมนเนม ที่ไม่สามารถตั้งเป็นชื่อต่อท้ายองค์กรได้ทำให้ไม่น่าสนใจ แต่ปีนี้ สรอ.รับหน้าที่บริหารจัดการอีเมลกลางภาครัฐแต่เพียงผู้เดียวทำให้เกิดความคล่องตัว และสามารถแก้ปัญหาทางเทคนิคโดยสร้างชื่ออีเมลกลางเป็นของหน่วย งานภาครัฐหรือองค์กร นั้น ๆ ได้เลย อาทิ อีเมลกลางของกระทรวงไอซีที ใช้ @mict.go.th เป็นต้น
ปัจจุบัน อีเมลกลางภาครัฐมีผู้ลงทะเบียน ใช้งาน 1 แสนคน แต่มีคนที่ใช้งานต่อเนื่องเพียง 6 หมื่นคน ตั้งเป้าปีนี้จะกระตุ้นให้เกิดการใช้งานอีเมลกลางภาครัฐอย่างจริงจัง 1 แสนคนเต็ม
“แนวทางการผลักดันการใช้อีเมลกลางภาครัฐ คือ ให้หน่วยงานต่าง ๆ ใช้โดเมนเนมของตนเอง และทำให้อีเมลกลางเป็นสิ่งที่พนักงานราชการใช้ติดตัวตลอดชีวิต แม้แต่เกษียณแล้วยังต้องใช้อีเมลเพื่อติดต่อเรื่องบำเหน็ดบำนาญ หากต้องย้ายสังกัดก็สามารถทำได้เพียงแจ้งมาที่ สรอ.เพื่อเปลี่ยนโดเมนเนมให้โดยที่ข้อมูลในกล่องจดหมาย(อินบ็อกซ์)ยังคง อยู่” ดร.ศักดิ์ กล่าว
รวมทั้งวางแผนต่อยอดสู่การทำสมุดนามสงเคราะห์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีรายชื่ออีเมลของพนักงานราชการทุกคน ตัวอย่าง ถ้านายกรัฐมนตรีต้องการส่งเอกสารทางอีเมลให้กับอธิบดีทุกคนของทุกหน่วยงานสา มารถคลิกเลือกรายชื่อในหมวดนี้แล้วส่งเอกสารได้ทันที
เดินหน้า ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ หรือเอกสารที่หน่วยงานภาครัฐส่งถึงกัน โดยเปลี่ยนจากการส่งเอกสารที่เป็นกระดาษสู่การส่งเอกสารทางระบบสารบรรณ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขณะนี้หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ได้เชื่อมโยงระบบการทำงานและโครงสร้างทางไอทีเข้าด้วยกันแล้วรวม 20 กระทรวง 9 หน่วยงาน ซึ่งการทดสอบการส่งเอกสารผ่านระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ช่วยประหยัดต้น ทุนกระดาษและเวลา แต่ขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดใช้ส่งเอกสารข้ามกระทรวง
ดร.ศักดิ์ กล่าวว่า การผลักดันภารกิจนี้ สรอ.ต้องกระตุ้นให้กระทรวงต่าง ๆ ส่งเอกสารผ่านระบบสารบรรณอย่างจริงจัง โดยเริ่มการจัดส่งเอกสารในระบบสารบรรณบางจุดที่ไม่ใช่เอกสารสำคัญ เพื่อทำให้พนักงานราชการคุ้นเคยกับเรื่องของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าปี ค.ศ.2015 จะเกิดการใช้งานอย่างสมบูรณ์แบบ
“การผลักดันการใช้งานไอทีในหน่วยงานภาครัฐ สรอ.ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทันที ต้องค่อย ๆ สร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อให้ทุกหน่วยงานเปิดรับ” ดร.ศักดิ์ กล่าว
ตามติดด้วยภารกิจเด่นที่ต้องสัมฤทธิผลใน 4 เดือนนับจากนี้ คือ สำรวจศักยภาพอี-กัฟเวิร์นเม้นท์ไทย เนื่องจากผลสำรวจเรื่องอี-กัฟเวิร์นเม้นท์ของไทยอยู่ในอันดับที่76 ขณะที่ในอาเซียนการพัฒนาเรื่องอี-กัฟเวิร์นม้นท์ของไทยตกจากอันดับ 3 ไปอยู่ในอันดับ 4
ดร.ศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ สรอ.ต้องสำรวจเกี่ยวกับศักยภาพอี-กัฟเวิร์นเม้นท์ของประเทศไทย โดยต้องเก็บข้อมูลให้ได้ราว 80% อาทิ การเก็บข้อมูลเว็บไซต์ภาครัฐ ความซับซ้อนเกี่ยวกับเว็บไซต์ภาครัฐ รูปแบบเว็บไซต์ให้บริการภาครัฐ รวมทั้งเรื่องเครือข่าย และแบ็คออฟฟิศ ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้าง โดยอีก 4 เดือนจะประกาศได้ว่าอี-กัฟเวิร์นเม้นท์ไทยมีศักยภาพเป็นอย่างไร
“เกาหลี วัดความสำเร็จเกี่ยวกับเรื่องอี-กัฟเวิร์นเม้นท์ จากการที่ประชาชนเดินไปทำธุรกรรมและใช้บริการที่สำนักงานของหน่วยงานรัฐน้อย เพราะใช้บริการผ่านอี-เซอร์วิสบนเว็บไซต์ของหน่วยงานแทน แต่สำหรับไทยยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง” ดร.ศักดิ์ กล่าว
ทั้ง 3 ภารกิจนี้เป็นสิ่งที่ สรอ.จะขับเคลื่อนให้เกิดผลโดยเร็ว ทว่าสิ่งที่ สรอ.ผลักดันอาจดูยากต่อความเข้าใจของประชาชนทั่วไปว่าการมี สรอ.ช่วยให้ชีวิตดีขึ้นอย่างไร
ดร.ศักดิ์ กล่าวว่า ประชาชนทั่วไปไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการมี สรอ. แต่จะได้รับประโยชน์จากการใช้อี-เซอร์วิสที่ให้บริการผ่านเว็บไซต์ของหน่วย งานต่าง ๆ ที่ สรอ.ช่วยผลักดันให้เกิดการใช้งาน โดยสิ่งที่ สรอ. ตั้งธงไว้คือ อีก 4 ปีข้างหน้าจะต้องผลักดันให้มีอี-เซอร์วิสของหน่วยงานรัฐที่ประชาชนไม่ต้อง สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อลดการใช้กระดาษ
ปัจจุบันหน่วยงานรัฐมีอี-เซอร์วิสกว่า 300 บริการ ติดตามดูว่าภารกิจของ สรอ.จะทำให้อี-เซอร์วิสเหล่านี้เข้าถึงประชาชนและเกิดการใช้งานจริงได้
เพียงใด.
นํ้าเพชร จันทา
namphetc@dailynews.co.th
http://twitter.com/phetchan
ที่มา: http://www.dailynews.co.th/web/index.cfm?page=content&categoryId=316&contentID=144903