‘EGA’ กับภารกิจที่หนักอึ้ง ผลักดันรัฐบาลไอทีเต็มสูบ!
ดร.ณพงศ์ นพเกตุ ที่ปรึกษาด้านองค์กรสัมพันธ์ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สรอ.) “Electronic Government Agency” (EGA) พูดคุยกับ ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการ สรอ.ผ่านรายการจับชีพจรประเทศไทย ทีเอ็นเอ็น 24 และสยามรัฐ เผยแพร่รายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
ดร.ณพงศ์ นพเกตุ: วันนี้ แม้ว่าจะอยู่ในสภาวะน้ำท่วม ซึ่งเราเป็นองค์กร (มหาชน) ของรัฐบาล จึงอยากแนะนำที่มาของ EGA หรือ e-Government คืออะไร มีบทบาทหน้าที่ ความความสำคัญอย่างไร และในสภาวะน้ำท่วม ดร.ศักดิ์ มีมุมมองต่อสภาวะปัจจุบันอย่างไร
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด:สำนักงานรัฐบาล อิเล็กทรอนิกส์ เป็นองค์การมหาชนอยู่ภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นในปีนี้ โดยเป็นประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นพระราชกฤษฎีกา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นหน่วยงานที่โอนมาจากสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศภาครัฐ (สบทร.) ที่เป็นหน่วยงานกำกับของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สำหรับความเป็นมาของการจัดตั้งสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากว่าการนำไอทีมาใช้ในภาครัฐ ต้องย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีกระทรวงไอซีที สมัยนั้นจะเป็นหน่วยงานที่เข้าไปช่วยให้ภาครัฐนำเอาไอทีมาใช้งาน พอมาเป็นสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ภายใต้กระทรวงไอซีทีก็ได้มาทำเกี่ยว กับ e-Government โดยตรง โดยมีภารกิจหลัก 4 ข้อ คือ 1. เรื่องของการทำโครงสร้างพื้นฐานของการทำรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ เช่น รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหมายความว่า การเอาไอทีมาใช้จัดการข้อมูลภายในของหน่วยงาน ระบบคอมพิวเตอร์ และระบบฐานข้อมูล เพื่อการตัดสินใจของผู้บริหาร และการนำไอทีมาใช้ในการบริการประชาชน ทั้งนี้ไอทีมาใช้ให้มีความคุ้มค่ามากกว่า ความเหมาะสมกว่า การให้แต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำ ก็มาใช้เป็นระบบกลาง เช่น ระบบอีเมล์กลางภาครัฐ แทนที่จะให้ภาครัฐจะเสียเวลาไปทำอีเมล์ของใครของมัน มีความยุ่งยากในการดูแลระบบ เราก็ทำระบบกลางให้หน่วยงานภาครัฐมาใช้
รวมทั้งระบบบริการประชาชนที่มีความจำเป็นในการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกัน การที่ทำตรงกลางก็จะช่วยลดค่าใช้จ่าย คนที่ดูแลก็จะเป็นผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ มันน่าจะคุ้มค่าและเหมาะสมกว่า สำนักงานของเรานอกจากจะทำโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ก็จะมีเรื่องของการพัฒนาและกำหนดมาตรฐานของข้อมูล
ดร.ณพงศ์ นพเกตุ: เป็นประเด็นที่ประชาชนกำลังสนใจว่า สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ จะมีประโยชน์อย่างไรกับพวกเขาบ้าง ในช่วงน้ำท่วม
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด:สิ่งจำเป็นมากใน ช่วงน้ำท่วม ทุกคนดีว่าข้อมูลในการตัดสินใจเป็นสิ่งสำคัญ ข้อมูลในการแจ้งเตือนภัย ข้อมูลของการให้ความรู้ในการปฏิบัติโดยตรงของประชาชนในช่วงน้ำท่วม ทุกอย่างคือข้อมูลหมด แต่ข้อมูลมาจากหลายแหล่งและมีความกระจัดกระจาย ถ้าไม่มีการสร้างมาตรฐาน ไม่มีการกำหนดโครงของข้อมูลที่แลกเปลี่ยนกันได้ มันก็จะเกิดการใช้งานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น ภารกิจที่ 2 ของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ ก็คือ กำหนดการพัฒนามาตรฐานข้อมูล เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถบูรณาการข้อมูลกันได้
สำหรับภารกิจที่3หรือภารกิจสุดท้ายของสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ คือ การไปเป็นที่ปรึกษาหน่วยงานภาครัฐในการนำไอทีมาใช้ ต้องยอมรับว่า บุคลากรไอทีของประเทศเราขาดแคลนและบุคลากรด้านไอทีของภาครัฐยิ่งขาดแคลน เนื่องจากคนเก่งๆ ก็จะไปทำงานภาคเอกชน ก็จะเกิดการขาดแคลนทรัพยากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอทีของแต่ละหน่วยงานภาค รัฐ ถ้าจะพูดถึงกรม ก็คือทั้ง 200 กรม บทบาทของเราคือเข้าไปช่วยเหลือหน่วยงานพวกนี้ หน่วยงานเก่งๆ มีอยู่ แต่มีไม่มากพอ ส่วนใหญ่ยังขาดแคลน เราก็จะเข้าไปช่วยเหลือ เช่น หน่วยงานจะซื้อเซิร์ฟเวอร์ ซื้อคอมพิวเตอร์ ซื้อโปรแกรม เราก็จะเข้าไปช่วยเป็นที่ปรึกษา หรือเข้าไปสร้างฐานความรู้ในการนำเอาไอทีมาใช้อย่างไร สรุปโดยภาพรวมEGA อาจจะไม่ใช่หน่วยงานที่ดูแลประชาชนโดยตรง แต่เราจะไปช่วยหน่วยงานภาครัฐ หรือเป็นคนที่อยู่เบื้องหลัง เข้าไปสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้เอาไอทีไปใช้ในการจัดการเพื่อบริการ ประชาชนอีกที
ดร.ณพงศ์ นพเกตุ: นอกจากนี้ยังส่งเสริมเรื่องของการพัฒนาบุคคลด้วยหรือไม่
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด:ในเรื่องการเป็นที่ ปรึกษา สิ่งหนึ่งที่เราคิด คือ จะต้องให้คนของภาครัฐเก่งด้านไอทีด้วย โดยการเข้าไปถ่ายทอดความรู้ เพิ่มทักษะในการใช้ไอที เพราะไอทีที่ระบบดี แต่คนไม่ดีก็ไม่มีความหมาย ก็ต้องไปทั้งคนและทั้งระบบ อย่างสถานการณ์น้ำท่วม รัฐบาลได้ตั้งศปภ.ขึ้นมานั้น เว็บของศปภ.ก็จะเป็นเว็บไซต์ที่รวมข้อมูลทุกอย่างในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย หน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐก็จะทำข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วม เช่น กรมชลประทานมีรายงาน, GISTDA ทำภาพถ่ายดาวเทียม,กทม.มีข้อมูลเรื่องระดับน้ำในคลอง,กรมอุตุฯ มีข้อมูลพยากรณ์อากาศ และมีอีกหลายหน่วยงานที่ต่างคนต่างทำข้อมูลเพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบ สถานการณ์ต่างๆ เกี่ยวกับน้ำ คำถามคือ ถ้ามันกระจัดกระจายอย่างนี้ ประชาชนต้องไปหาหลายๆ ที่ มันไม่สะดวก ดังนั้น สิ่งที่เราทำคือเว็บศูนย์รวมข้อมูลอุทกภัย หรือ Flood Information Portalคือ จะเป็นศูนย์รวมข้อมูลที่เกี่ยวกับน้ำท่วมทุกเรื่องที่ http://flood.egov.go.thหรือไปที่ www.ega.or.th ก็ลิงค์จากตรงนั้นไปได้
ดร.ณพงศ์ นพเกตุ: ถ้าเข้าง่ายที่สุดก็ www.ega.or.th
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด:ขอเสริมว่า ข้อมูลจะไปประสานกับหลายๆ หน่วยงาน เช่น สมาคมธนาคาร ก็จะมีข้อมูลตู้เอทีเอ็มว่าตู้ไหนเปิด ตู้ไหนปิด ปั๊มน้ำมันปตท. ว่าปั๊มไหนปิด-เปิด ซึ่งเป็นการร่วมมือกันในช่วงที่หลายคนต้องการหรือจุดให้บริการของผู้ให้ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
ดร.ณพงศ์ นพเกตุ: ผลงานที่คิดว่าจะเป็นตัวที่นำความสำเร็จของ EGAเช่น เรื่อง Smart Thailand, Smart Card และ Cloud Computing อย่าง ณ ปัจจุบันที่เราถูกน้ำท่วม ทุกคนคงสงสัยว่าทำไม ห้องเซิร์ฟเวอร์เราก็เดือดร้อน อีเมล์เราเข้าไม่ได้ ตรงนี้ทาง EGA จะเข้ามาช่วยอย่างไร
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด:เรื่องของการนำ Cloud Computingมาใช้ จริงๆ สรอ.(EGA) ทำมา 2 ปีแล้ว หลักการของเทคโนโลยี คือ แทนที่หน่วยงานภาครัฐต้องผ่านจัดซื้อเพื่อซื้อคอมพิวเตอร์ แล้วพัฒนาโปรแกรมฐานข้อมูลขึ้นมาใช้งาน ซึ่งมีกระบวนการใช้เวลามาก เทคโนโลยี Cloud Computingจะช่วยให้หน่วยงานสามารถมาใช้เทคโนโลยีตัวนี้ได้ทันที ซึ่งเราก็มองว่า การทำ Cloud Computingมันจะเป็นการปฏิวัติการจัดซื้อจัดจ้างคอมพิวเตอร์ของภาครัฐเลย
ดร.ณพงศ์ นพเกตุ: ถ้าพูดถึงเรื่องการปฏิวัติจัดซื้อจัดจ้างคอมพิวเตอร์ของภาครัฐ ทาง EGA มีโปรเจ็คที่เรียกว่า Open Government คืออะไร
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด:เรื่องOpen Governmentเป็นแนวโน้มเทรนด์แนวใหม่ของการที่รัฐบาลต้องการเปิดข้อมูลที่ตัว เองมี เช่น ข้อมูลน้ำท่วม จะเห็นว่า ข้อมูลเยอะมากเลย หน่วยงานแต่ละหน่วยงานอยู่ดีๆ ก็เปิดข้อมูลให้ประชาชน มันควรจะต้องมีการจัดการว่า เอาข้อมูลอันไหนไปใช้ประโยชน์ได้บ้าง โดยเป็นข้อมูลถูกกฎหมายตามพรบ.ข้อมูลข่าวสาร จะเป็นข้อมูลที่รัฐบาลเปิดข้อมูลอยู่แล้ว เพียงแต่เราเอาข้อมูลมาทำอย่างไร ที่ข้อมูลภาครัฐมีอยู่มหาศาลเอาออกมาให้ประชาชนเพื่อจะใช้ ซึ่งถ้าหากมองในแง่ของการพัฒนา ที่จะเอาข้อมูลเหล่านี้มาต่อยอด ทำเป็นแอพพลิเคชั่นง่ายๆ ไว้บนมือถือ อาจจะมีประโยชน์ต่อประชาชนต่อไปก็ได้
ดร.ณพงศ์ นพเกตุ: อีกโปรเจ็คที่ประชาชนให้ความสนใจมากคือเรื่อง Smart Card
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด:ทุกคนทราบดีว่า Smart Cardเรามี “ชิพ” แต่สิ่งที่ผ่านมาคือ ยังไม่ได้ดึงความสามารถของชิพมาใช้ เป็นความคิดหนึ่งที่เขียนไว้ในแผนแม่บทไอซีที 2020 มาอยู่แล้ว ว่าต้องทำอย่างไรจะนำ Smart Cardมาใช้งานได้มากกว่านี้ ซึ่งคงทราบดีว่า ทุกครั้งที่ไปทำธุรกรรมภาครัฐ สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน ถ้าสามารถเอา Smart Cardมาใช้ แน่นอน จะต้องมาพร้อมกับการแก้กฎระเบียบอะไรให้เหมาะสม เพราะต่อไปประชาชนไปทำธุรกรรมกับภาครัฐ จะใช้แค่ Smart Cardใบเดียว
แน่นอนในปัจจุบันมีใช้แล้ว ไม่ใช่ว่าไม่มี เช่น การรักษาพยาบาล 30 บาท รักษาทุกโรค ใช้บัตรประชาชนใบเดียวก็ใช้ได้ แต่ก็ยังมีธุรกรรมหลายอย่างที่จำเป็นต้องใช้สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประชาชน ซึ่งอยากไปถึงจุดที่ต่อไปประชาชนไม่ต้องเตรียมอะไรไปเลย คุณถือแต่บัตร Smart Cardไปเสียบเข้าเครื่องอ่านบัตร Smart Cardซึ่งอาจจะพิมพ์ฟอร์มออกมาให้เรากรอก ประชาชนก็แค่เซ็นรับทราบ หรือยืนยันว่าได้มาทำธุรกรรมภาครัฐ อย่างไรก็ต้องมีลายเซ็น เพราะตอนนี้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ยังไปไม่ถึงจุดนั้น
ดร.ณพงศ์ นพเกตุ: ยังไม่เป็นกฎหมาย?
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด:กฎหมายแม่มีแล้ว แต่ยังไม่มีกฎหมายลูกที่จะทำให้มันใช้งานธุรกรรมภาครัฐได้ คงต้องใช้เวลานิดหนึ่ง แต่อย่างน้อย ก็เป็นจุดแรกของการลดเอกสาร ตรงนี้มองว่าถ้าสามารถที่จะเริ่มทำได้ ก็น่าจะขยายวงไปถึงบริการหลายๆ อย่างของภาครัฐ โดยเริ่มจากจุดนี้และลดการใช้กระดาษด้วย
ที่มา: สยามรัฐ 21/11/54