สรอ.พร้อมนำบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ สร้างนครนายกเป็นจังหวัดอัจฉริยะต้นแบบ


16 March 2558
558

สรอ.พร้อมนำบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐสร้างนครนายกเป็นจังหวัดอัจฉริยะต้นแบบ เตรียมดันแอพพลิเคชันผ่านระบบคลาวด์ภาครัฐ ต่อเชื่อมกับศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ คาดภายในไม่กี่เดือนเริ่มเห็นผล

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสรอ. เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT มีนโยบายจัดผลักดันโครงการ Smart Province หรือจังหวัดอัจฉริยะ โดยใช้จังหวัดนครนายกเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งทางสรอ.เห็นว่ามีความเหมาะสมอย่างยิ่ง เนื่องจากอยู่ใกล้จังหวัดกรุงเทพฯ ซึ่งมีความพร้อมเรื่องเครื่องมือ สะดวกต่อการเดินทาง การประสานงาน และยังเป็นจังหวัดที่ไม่ใหญ่มาก ทำให้การทดสอบระบบไม่ต้องใช้งบประมาณที่สูงเกินไป โดยขณะนี้สรอ.ได้เตรียมการประสานงานกับบริการภาครัฐที่มีความพร้อมทางด้าน การให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดมาปรับสถาปัตยกรรมบางส่วนให้เชื่อมโยง กัน โดยที่มีระบบ Government Cloud Service รองรับ

ในเบื้องต้นนั้นสรอ.จะแบ่งบริการของภาครัฐที่นำสู่โครงการ Smart Province ออกเป็น 2 ส่วน คือ ด้านการให้บริการข้อมูล และด้านการบริการผ่านแอพพลิเคชัน ในส่วนแรกนั้นทางสรอ.ได้รวบรวมข้อมูลของภาครัฐที่ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต ในทุกด้าน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการพยากรณ์อากาศ ระบบเตือนภัยพิบัติ ราคาน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งทางสรอ.จะรวบรวมทั้งข้อมูลในส่วนที่จำเป็นของภาคธุรกิจ และภาคการเกษตร รวมถึงบริการต่างๆ ของคนทั่วไปที่อยู่ในจังหวัดด้วย โดย สรอ.ได้ดำเนินการจัดทำฮาร์ดแวร์ต้นแบบ Smart Box  มีลักษณะคล้ายกับการใช้บริการ Internet TV ใช้เป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลที่สำคัญจากแหล่งต่างๆ ให้กับประชากรในพื้นที่ได้

อย่างไรก็ตาม สรอ.ได้ดำเนินการโครงการ Government Cloud Service ควบคู่ไปกับโครงการ Smart Province ด้วย หากมีการบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐรายใดสอดคล้องกับเทคโนโลยีนี้ ทางสรอ.ก็จะผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐปรับการให้บริการเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ นี้ทันที ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้อยู่ระหว่างการทดสอบระบบ และจะให้บริการจริงภายในเดือนเมษายนนี้

ขณะนี้มีหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการนำระบบของตนเองเข้ามาทดสอบแล้วจำนวน 10 ราย ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต., กรมปศุสัตว์, โครงการชัยพัฒนา, สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสพธอ., กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรมธนารักษ์, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือสสวท., สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISDA, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกรมการพัฒนาชุมชน โดยระบบของภาครัฐที่เข้ามานำร่องในขณะนี้ยังเป็นแอพพลิเคชันขนาดเล็กเพื่อนำ มาเข้าสู่กระบวนการทดสอบ คาดว่าหลังจากที่ระบบใหญ่ดำเนินการติดตั้งเสร็จ จะมีแอพพลิเคชันขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับการบริการภาคประชาชนได้จำนวนมาก

ในด้านความคืบหน้าทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของระบบ Government Cloud Service นั้น ล่าสุดทางสรอ.ได้เตรียมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันเพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐ ที่เข้าร่วมโครงการนำร่อง Government Cloud Service มาใช้ทรัพยากรด้าน Hardware และ Software บน Cloud Serviceโดยสรอ.จะเข้าไปบริหารจัดการหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมโครงการ รวมถึงบริการที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ ด้วยการให้ใช้ ศูนย์บริการข้อมูล (System Intelligence Center) ของ สรอ และ ศูนย์เครือข่ายกลางให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบครบวงจร (Internet Data Center) ของ กสท   และเตรียมดำเนินการในรูปแบบเดียวกันนี้กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งผลจากการทำ MOU ในครั้งนี้จะเป็นการยืนยันว่าระบบนี้จะมีเครือข่ายใหญ่ๆ ของประเทศมารองรับอย่างแน่นอน

นอกจากนั้นทางสรอ.ยังได้เร่งทำบันทึกข้อตกลงกับบริษัทอินเตอร์เน็ตประเทศไทย และผู้ประกอบการทางด้าน IDC ที่มีความพร้อมทางด้านการให้บริการคลาวด์รายอื่นๆด้วย โดยทั้งหมดสามารถเข้าไปให้บริการในพื้นที่ของจังหวัดนครนายกเพื่อสนับสนุน โครงการนี้ด้วย