สรอ. ผลักดันระบบ Cloud ภาครัฐ สู่ e-Government สมบูรณ์แบบ
ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. คืออีก ผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดัน Smart Government ให้สัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว ทั้งเรื่องภารกิจหลักขององค์กรและนโยบายสำคัญเร่งด่วนที่รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงไอซีทีมอบหมาย และระบบ Cloud ภาครัฐ ก็เป็นเรื่องน่าสนใจที่ ดร.ศักดิ์ กำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้
Smart Government มีแนวคิดและแผนการดำเนินการอย่างไร
ดร.ศักดิ์:ในการผลักดันนโยบาย Smart Thailand มีการกำหนดนโยบายเร่งด่วนไว้ 3 ด้าน ได้แก่ (1) Smart Network (2) Smart Government และ (3) Smart Business ซึ่งในส่วน Smart Government เป็นภารกิจที่ สรอ. ต้องดำเนินการผลักดันให้ประสบความสำเร็จ
สรอ.ได้กำหนดกรอบการดำเนินการไว้ 4 ปี โดยแบ่งภารกิจที่ต้องผลักดันไว้ 4 เป้าหมายหลัก คือ การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ การพัฒนาและบริหารจัดการระบบงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่จำเป็น การศึกษาและออกแบบมาตรฐานและสถาปัตยกรรมด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสม และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรไอซีทีของรัฐให้มีความสามารถในการรู้เท่าทัน เทคโนโลยีและพร้อมต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
สำหรับในระยะเริ่มต้นของ สรอ. เราเน้นการจัดระบบงานภายในให้พร้อมรองรับต่อการทำงานที่วางเป้าหมายไว้ และผลักดันโครงการหลักที่ได้รับโอนจากกระทรวงไอซีที ได้แก่ โครงการ GIN, โครงการ MailgoThai, โครงการ e-Government Portal และโครงการเชื่อมโยงระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์กลาง นอกจากนี้ สรอ.ยังมีแผนในการผลักดันอีกหลายโครงการ เช่น ล่าสุดเราได้พยายามผลักดัน โครงการ G-Cloud Service ในลักษณะนำร่องขึ้นเพื่อเตรียมให้บริการจริงในราวกลางปี 2555 นี้
การพัฒนา Government Cloud Service จะดำเนินการอย่างไร อย่างเป็นรูปธรรม
ดร.ศักดิ์: ตอนนี้เทคโนโลยีไปถึงจุดที่จากเดิมต้องมีเครื่องแม่ข่ายแล้วลูกข่ายก็มาต่อ เชื่อมเพื่อทำงานร่วมกัน ตอนนี้ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องแม่ข่ายอยู่ที่ทำงานแล้ว ไปอยู่ตรงศูนย์กลางที่ไหนสักแห่ง อย่างเช่น กูเกิ้ล หรือ ฮอตเมล์นั้น เครื่องแม่ข่ายเขาอยู่ที่ไหน เราไม่รู้ รู้แต่การใช้งานอย่างเดียว นั่นคือการทำงานที่เรียกว่า Cloud Service
กระทรวงไอซีที ได้มอบหมายให้ สรอ. ทำการศึกษาและทดสอบระบบ Cloud Computing เพื่อเป็นโครงการนำร่องไปสู่ Government Cloud Service ของประเทศ โดยหน่วยงานภาครัฐต่างๆ จะนำระบบงานเพื่อให้บริการประชาชนมาติดตั้งในระบบ Cloud Computing เพื่อทดสอบการให้บริการประชาชน
สรอ.จะมีการทดสอบร่วมกับหน่วยงานนำร่องจำนวน 10 หน่วยงาน เป็นเวลา 3 เดือน เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการนำระบบ Cloud มาใช้งานจริงในการให้บริการประชาชน ทั้งนี้แต่ละหน่วยงานจะได้รับจัดสรรเครื่องแม่ข่ายที่อยู่บนระบบ Cloud ของ สรอ. โดย 10 หน่วยงานนี้ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรมปศุสัตว์ มูลนิธิชัยพัฒนา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กรมธนารักษ์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมการพัฒนาชุมชน และกระทรวงมหาดไทย
ด้านการลงทุนในการทดสอบนั้น สรอ. ได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานและบริษัทเอกชน เพื่อจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็น โดยมีการนำมาตั้งที่ Data Center ของ สรอ. เพื่อให้บริการ เนื่องจาก Data Center ของ สรอ. มีความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า รวมถึงบุคลากร
บริการของ สรอ. ในเบื้องต้นจะประกอบด้วย บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Cloud Infrastructure) หรือ Infrastructure-as-a-service (IaaS) เป็นการให้บริการระบบคอมพิวเตอร์และพื้นที่จัดเก็บข้อมูล (Storage) เหมาะสมกับหน่วยงานที่ไม่ต้องการลงทุนทางด้านฮาร์ดแวร์ โดยผู้ให้บริการจะเป็นผู้จัดสรรทรัพยากร (Resource) ของระบบออกมาในรูปของบริการ เช่น เครื่องแม่ข่าย หน่วยความจำ หน่วยประมวลผล พื้นที่จัดเก็บข้อมูล หรืออุปกรณ์เครือข่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ซึ่งผู้ให้บริการสามารถกำหนดประสิทธิภาพของระบบที่ให้บริการได้ตามความเหมาะ สมและความต้องการของผู้ใช้งาน
หลังจากทำการทดสอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว สรอ. จะนำผลที่ได้จากการทดสอบ มาศึกษาถึงความต้องการ และผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการเปิดให้บริการจริงในช่วงเดือนเมษายน 2555 โดยเพิ่มจำนวนหน่วยงานที่ประสงค์จะขอใช้บริการ ทั้งนี้ สำหรับการเจรจาในระดับกระทรวงอาจมีการพิจารณาให้เป็นมติ ครม. เพื่อความสะดวกในการดำเนินงานต่อไป
หน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมโครงการGovernment Cloud Service จะได้ประโยชน์อย่างไร
ดร.ศักดิ์ : ประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วม โครงการ คือ สามารถมีบริการทางด้านเทคโนโลยีได้ในทันที จากเดิมกว่าจะผ่านกระบวนการด้านจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ก็จะเหลือเพียงแค่ 1 วัน และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะเกิดมาจากการใช้จ่ายตามจริง ไม่ใช่การซื้อมากองไว้แล้วได้ใช้บ้างไม่ได้ใช้บ้างเหมือนที่ผ่านมา ในแง่ผู้ใช้งานจะได้รับความสะดวกมากขึ้น สามารถเลือกใช้ระบบได้จากทุกที่ ทุกเวลา
นอกจากนี้ ยังช่วยลดความซ้ำซ้อนด้านต้นทุนได้อย่างน้อย 30 % ทั้งในด้านของระบบคอมพิวเตอร์ เครื่องแม่ข่าย ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร รวมถึงค่าบำรุงรักษา ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ โดยสามารถลดค่าบริหารจัดการและค่าสาธารณูปโภคซึ่งเป็น Hidden Cost ของหน่วยงานได้เต็ม 100 % ทำให้เกิดการประหยัดพลังงาน ประหยัดงบประมาณ และใช้ทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่า อีกทั้งยังเป็นการป้องกันข้อมูลและระบบงานคอมพิวเตอร์จากความเสียหาย หรือลดความเสี่ยงจากความสูญเสียของข้อมูลได้อีกด้วย ซึ่งหลายประเทศในโลกได้มีการวางแผนและกำหนดแนวนโยบายเพื่อนำเทคโนโลยี Cloud มาใช้เพื่อให้บริการสำหรับระบบงานภาครัฐ อันเป็นประโยชน์ต่อรัฐในระยะยาว
ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจาก Government Cloud Service
ดร.ศักดิ์: ในระยะสั้น จะเกิดบริการของภาครัฐใหม่ ๆ ให้บริการผ่านระบบออนไลน์เพื่อสร้างความสะดวกสบายมากขึ้น โดยระบบจะมีการปรับแต่งให้มีความทันสมัยตลอดเวลา ระบบจะมีความเสถียรและให้บริการได้ตลอดโดยไม่มีสะดุด
ในระยะต่อมา จะเกิดแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ทั้งในส่วนของราชการเอง และในส่วนของการพัฒนาจากภาคเอกชนที่สามารถดึงข้อมูลจากการกำหนดเป็นมาตรฐาน ในการนำไปใช้ ทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้บริการจากภาครัฐมากมาย และสร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชนโดยรวม
ในระยะยาว จะเปลี่ยนโฉมหน้าบริการทั้งหมดของภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล ที่เป็นโครงสร้างและมาตรฐานเดียวกัน สามารถแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง สามารถแบ่งปันข้อมูลบางส่วนที่จำเป็นให้กับภาคเอกชน เกิดระบบการรายงานที่ชาญฉลาดให้กับผู้บริหารในระดับต่างๆ ได้ตัดสินใจง่ายขึ้น บนฐานข้อมูลเดียวกัน ทำให้การบริการประชาชน และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทำได้ถูกจุด ส่งผลให้ประชาชนได้รับความพึงพอใจอย่างรวดเร็ว
เมื่อ Government Cloud Serviceเกิดขึ้นแล้ว จะทำให้เครือข่าย GIN เข้ามาอยู่ร่วมใน Government Cloud Serviceอย่างไร
ดร.ศักดิ์: โครงข่ายสื่อสาร GIN เป็นโครงสร้างด้านการเชื่อมโยงหลักที่ สรอ. ออกแบบไว้สำหรับการดำเนินโครงการ Government Cloud Service ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐที่ใช้งาน GIN อยู่แล้ว จะสามารถเข้ามาใช้งานบริการของ สรอ. ได้อย่างครบวงจรมากขึ้น
ระบบงานกลางรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จะถูกพัฒนาขึ้นมาให้บริการบน G-Cloud ที่ สรอ. จัดเตรียมไว้ โดยสามารถเชื่อมโยงการใช้งานผ่านเครือข่าย GIN ได้อย่างมีประสิทธิภาพ