DGA จัดเวิร์กช็อประดมสมอง ขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลไทยสู่มาตรฐานโลก เรียนรู้จากประเทศผู้นำ ปรับแผนพัฒนาฯ 68-70 เตรียมพร้อมสู่บริการระดับ World Class


17 September 2567
DGA จัดเวิร์กช็อประดมสมอง ขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลไทยสู่มาตรฐานโลก เรียนรู้จากประเทศผู้นำ ปรับแผนพัฒนาฯ 68-70 เตรียมพร้อมสู่บริการระดับ World Class

สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA “จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายการเป็นรัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย โครงการจัดทำ (ร่าง) กรอบแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล พ.ศ. 2568-2570 (ปรับปรุง)” การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ นำโดย นางไอรดา เหลืองวิไล รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ DGA ซึ่งให้การต้อนรับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญในด้านรัฐบาลดิจิทัลระดับโลก ได้แก่ ลอร์ดฟรานซิส มอดด์ ที่ปรึกษาอาวุโส อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการค้าและการลงทุนของสหราชอาณาจักร และ มิสเตอร์ซิม ซิคคุต ผู้ขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลของสาธารณรัฐเอสโตเนีย ได้ให้เกียรติมาแบ่งปันประสบการณ์และแนวคิดในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เพื่อร่วมกันวางรากฐานทิศทางการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย

DGA จัดเวิร์กช็อประดมสมอง ขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัลไทยสู่มาตรฐานโลก เรียนรู้จากประเทศผู้นำ ปรับแผนพัฒนาฯ 68-70 เตรียมพร้อมสู่บริการระดับ World Class

เวิร์กช็อปครั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงจากหลายหน่วยงานภาครัฐอย่างคับคั่ง อาทิ นายฉัตรชัย ธนาฤดี และ นายอภิรัต ศิรินาวิน กรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล นางสาวอ้อนฟ้า เวชชาชีวะ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และ นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง รวมถึงผู้แทนจากหน่วยงานรัฐกว่า 21 แห่ง ที่เข้าร่วมระดมความคิดเพื่อผลักดันให้แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลเป็นเรือธงในการขับเคลื่อนประเทศเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ

นางไอรดา เหลืองวิไล ได้กล่าวถึงความสำคัญของการปฏิรูประบบราชการให้มีความทันสมัย คล่องตัว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ การบริหารงานราชการ และสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การเรียนรู้จากประเทศที่ประสบความสำเร็จ เช่น สหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐเอสโตเนีย จึงถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานที่แข็งแกร่ง สู่การให้บริการภาครัฐที่มีมาตรฐานระดับโลก เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและรองรับการพัฒนาประเทศในยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ