CEO WISDOM : สร้างมาตรฐานสากล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยระบบดิจิทัล แบบกรมสรรพสามิต


21 February 2567
756

สร้างมาตรฐานสากล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยระบบดิจิทัล แบบกรมสรรพสามิต

สร้างมาตรฐานสากล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยระบบดิจิทัล แบบกรมสรรพสามิต

คุยแบบ CEO กับ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต

ในประเทศไทยหน่วยงานที่เปรียบเสมือนกับเรดาร์ตรวจจับและสอดส่อง สินค้าจำพวกนำเข้า หรือ สุราและยาสูบ ให้มีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาประเทศให้ดียิ่งขึ้น หน่วยงานนั้นคือ “กรมสรรพสามิต”

แต่การยื่นเสียภาษีในแต่ละครั้ง หรือ การขอใบอนุญาตจำหน่ายสุราต่าง ๆ เป็นอะไรที่ซับซ้อน ยุ่ง ยาก เยอะ สิ่งนั้นทำให้ กรมสรรพสามิต และ “ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ” อธิบดีกรมสรรพสามิต เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานให้มีความทันสมัยด้วย “รัฐบาลดิจิทัล” โดยนำระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับการออกใบอนุญาตสุรา ยาสูบ ไพ่ มาให้บริการประชาชน เพื่ออำนวยความสะดวก และทำให้ชีวิตง่ายยิ่งขึ้น

สร้างมาตรฐานสากล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยระบบดิจิทัล แบบกรมสรรพสามิต

รัฐบาลดิจิทัลมีบทบาทในการผลักดัน Mission สำคัญของกรมสรรพสามิต อย่างไร?

กรมสรรพสามิตให้ความสำคัญกับการผลักดันรัฐบาลดิจิทัล โดยมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 3 ด้าน

ด้านที่ 1 ด้านดิจิทัล คือ การนำระบบดิจิทัลมาช่วยในการขับเคลื่อนบริการของหน่วยงานราชการโดยกรมสรรพสามิตได้นำเอาระบบดิจิทัลมาขับเคลื่อนในการให้บริการประชาชน ให้ประชาชนมีความสะดวกและง่ายมากยิ่งขึ้น

ด้านที่ 2 ด้านการเชื่อมโยงข้อมูล (Indication) ซึ่งกรมสรรพสามิตได้มีการนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ โดยมีการเชื่อมโยง มีการวิเคราะห์และเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอก เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดียิ่งขึ้น

ส่วนที่ 3 ด้านรัฐบาลดิจิทัล คือ การเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้ผู้รับบริการ หรือ ประชาชน สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบการให้บริการของกรมสรรพสามิต

First Idea ที่ทำให้กรมสรรพสามิต ริเริ่มโครงการระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับการออกใบอนุญาตสุรา ยาสูบ ไพ่

First Idea ของกรมสรรพสามิต คือ มุ่งเน้น ANYWHERE ANYTIME เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน

ANYWHERE ANYTIME อย่างไร? การขอใบอนุญาตของกรมสรรพสามิต สำหรับสินค้าจำพวกที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต ได้มีการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการรองรับการให้บริการประชาชน โดยปัจจุบันมีประชาชนที่ใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์อยู่ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมเมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีอยู่แค่ 66 เปอร์เซ็นต์

เพราะฉะนั้นการนำ “รัฐบาลดิจิทัล” เข้ามาช่วยในการปรับเปลี่ยนการทำงานไปจากเดิม ประชาชนก็จะรู้สึกสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องเดินทาง ลดความซับซ้อนของขั้นตอนต่าง ๆ เป็นลักษณะของ ANYWHERE ANYTIME สามารถเข้ามาใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพสามิตได้ตลอดเวลาและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

สร้างมาตรฐานสากล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยระบบดิจิทัล แบบกรมสรรพสามิต

ระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับการออกใบอนุญาตสุรา ยาสูบ ไพ่ ของกรมสรรพสามิต จะทำให้เกิดคำว่ารัฐบาลดิจิทัลได้อย่างไร?

สำหรับระบบการให้บริการของกรมสรรพสามิตนั้น สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาปรับใช้ให้ตอบโจทย์ในการให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการนำเอาข้อมูลที่ประชาชนได้ยื่นแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ มาเชื่อมต่อกันและวิเคราะห์ว่า ประชาชนต้องการบริการภาครัฐในรูปแบบใด? เพื่อให้เราสามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างตรงจุด

ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ของกรมสรรพสามิต หรือ www.excise.go.th ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ประชาชนนั้นเข้ามาค้นหาข้อมูลอะไรมากที่สุด เราจะได้ให้บริการตรงจุดนั้นได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงสามารถที่จะเชื่อมโยงข้อมูลที่ประชาชนเข้าไปใช้บริการ อย่างเช่น ข้อมูลที่เชื่อมโยงในด้านของการปราบปราม ข้อมูลสินค้าหนีภาษี ซึ่งทางกรมสรรพสามิตก็ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ในส่วนของระบบการให้บริการใบอนุญาต การขออนุญาต การชำระภาษี การขอคืนภาษี เราได้ร่วมมือกับประชาชนผู้รับบริการและบริษัทต่าง ๆ ที่เป็นผู้ใช้งานจริง มาร่วมกันออกแบบ ซึ่งจะออกแบบในเชิงของการทำงานและในเชิงของดิจิทัล เพื่อนำมาแก้ไขปัญหาและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน รวมถึงทุกภาคส่วนให้ได้รับบริการจากกรมสรรพสามิตที่ดียิ่งขึ้นด้วย “รัฐบาลดิจิทัล”

ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ ระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับการออกใบอนุญาตสุรา ยาสูบ ไพ่ สำเร็จ?

ปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพสามิต คือ “คน”

คนในหน่วยงานจะต้อง ‘เปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง’ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะถือเป็นการปรับเปลี่ยนการทำงานในรูปแบบใหม่ เปรียบเหมือนกับชีวิตประจำวันของเรา สมัยก่อนเราเคยอ่านหนังสือพิมพ์ที่เป็นกระดาษ ในทางกลับกัน ปัจจุบันเราก็หันมาอ่านข้อมูลข่าวสาร ผ่านทางมือถือที่เป็นดิจิทัล

แต่สิ่งสำคัญคือ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนกระดาษเป็นดิจิทัล แต่จะต้องเปลี่ยนกระบวนการทำงานไปด้วย ซึ่งถ้าสามารถปรับเปลี่ยนได้ก็จะทำให้การทำงานของพวกเราง่ายขึ้น

เพราะฉะนั้นจะต้องเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลให้ประชาชน หรือ ผู้รับบริการรู้สึกสะดวกมากขึ้น รวมถึงผู้ให้บริการ คือ คนในหน่วยงานราชการงานก็รู้สึกง่ายขึ้นเช่นกัน

 ถ้าพูดถึงคำว่า “รัฐบาลดิจิทัล” คิดว่าคำนี้มีความหมายอย่างไรกับบุคลากรภาครัฐ?

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดของ “คน” อยากให้หน่วยงานภาครัฐและบุคลากรภาครัฐเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้ทักษะใหม่ด้านดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันการเรียนรู้ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในแค่ห้องเรียน มีการเปิดอบรมทักษะทางด้านดิจิทัลให้กับคนภาครัฐ เพื่อยกระดับ ปรับเปลี่ยนรูปแบบในการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น การอบรมในหลักสูตรรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริหารระดับสูง (รอส.) จากสถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล หรือ TDGA ภายใต้การกำกับดูแลของ DGA

ซึ่งข้อดีของการเข้าร่วมอบรมในหลักสูตร รอส. ของสถาบัน TDGA คือ การที่ หัวหน้าหน่วยงาน หรือ ผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐ ได้มาร่วมแรงร่วมใจกันแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ รวมถึงสามารถนำบริการภาครัฐที่ตนเองสังกัดมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่าแต่ละหน่วยงานของตนเองมีข้อดีอย่างไร หรือ มีจุดแข็งและจุดอ่อนอย่างไร ทำให้เล็งเห็นถึงจุดที่สามารถปรับแก้ไขให้ดีขึ้น และ ส่วนที่นำมาพัฒนาต่อยอดได้ มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความรู้และแนวคิดซึ่งกันและกัน ที่สำคัญคือ สามารถนำความรู้ที่ได้จากการอบรม กลับไปใช้พัฒนาหน่วยงานของตนเองได้ ซึ่งจะช่วยให้งานของท่านมีความสะดวกสบายและง่ายมากขึ้น

Do & Don’t ถ้าหน่วยงานรัฐอยากให้คำว่ารัฐบาลดิจิทัลเกิดขึ้นได้จริง?

สร้างมาตรฐานสากล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยด้วยระบบดิจิทัล แบบกรมสรรพสามิต

Do –  1. สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง คือ การสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) ในหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะกับคนในองค์กรว่า รัฐบาลดิจิทัลมีความสำคัญและสามารถเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตของทุกคนมีความง่ายยิ่งขึ้น ดียิ่งขึ้น

2. เปิดโอกาสในการเรียนรู้ ทักษะใหม่ ซึ่งทุกวันนี้การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องไปเรียนตามมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว สามารถเรียนรู้กันเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการอบรมทักษะทางด้านรัฐบาลดิจิทัลกับ สถาบัน TDGA เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ คือ การให้ทักษะ ให้มีโอกาสในการเรียนรู้และ เปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น เพราะการแสดงความคิดเห็นจะเป็นโอกาสที่จะสามารถพัฒนาให้มีทักษะได้ดียิ่งขึ้น

3. เปิดใจให้ผู้รับเสียภาษี หรือ ผู้ใช้บริการ ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งสมัยก่อนเราจะคิดว่า เรารู้เองดีที่สุด แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่ดีที่สุดคือ ประชาชนผู้ใช้งานจริง เพราะเขาจะรู้ว่าเขาต้องการอะไรและความคิดเห็นของเขาจะตอบโจทย์ในการนำภาครัฐพัฒนาสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลได้ดีที่สุด

ประชาชนจะได้รับประโยชน์อะไรจากตัว ระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับการออกใบอนุญาตสุรา ยาสูบ ไพ่

ประชาชนจะได้รับการบริการที่ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ดียิ่งขึ้น และที่สำคัญประชาชนยังสามารถนำไปต่อยอด โดยการนำระบบดิจิทัลของกรมสรรพสามิตไปพัฒนางานของเขาให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของข้อมูลที่สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ต่อยอดทำให้ธุรกิจของเขาเติบโตยิ่งขึ้นได้

สุดท้ายนี้กรมสรรพสามิตจะเดินหน้าสู่คำว่า “รัฐบาลดิจิทัล” ให้คนไทยมีชีวิตที่ง่ายขึ้นอย่างไร?

กรมสรรพสามิตมีเป้าหมายสำคัญของเราคือ “เรามุ่งเน้นที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต” มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล สร้างมาตรฐานสากล เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน โดยมีกลยุทธ์ที่เรียกว่า ‘กลยุทธ์ง่าย’ อย่าง ‘EASE’

  1. E – Environment คือการเน้นด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องสังคม เรื่องธรรมาภิบาล เพื่อยกระดับการให้บริการของเรา
  2. A – Agile ways of work ยกระดับเปลี่ยนวิธีการทำงาน คือ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้คล่องตัวมากขึ้น
  3. S – Standard ยกระดับการให้บริการที่มีมาตรฐาน คือ การยกระดับการทำงานเราให้มีมาตรฐานและเป็นมาตรฐานสากล
  4. E – End-to-End Service การที่ให้ผู้เสียภาษี หรือ ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง โดยให้บริการตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นการให้บริการแบบไร้รอยต่อ

และนี่คือกลยุทธ์ของกรมสรรพสามิตที่จะมุ่งเน้นการทำงานในรูปแบบใหม่ โดยการนำ ‘รัฐบาลดิจิทัล’ เข้ามามีส่วนร่วมในการปรับใช้ เปิดใจ ยกระดับการให้บริการภาครัฐ เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนคนไทยมีชีวิตที่ง่ายยิ่งขึ้นด้วยภารกิจของ “กรมสรรพสามิต”

CEO WISDOM : กรมสรรพสามิต

เอกสารแนบ

1